ชื่อสมุนไพร (สามัญ) : กะเม็ง
ชื่อสมุนไพร (พื้นเมือง) : กะเม็ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eclipta prostrata L.
วงศ์ : Asteraceae หรือ Compositae
ชื่อสมุนไพร (ชื่ออื่น ๆ) : กระเม็งตัวเมีย หญ้าสับ ฮ่อมเกี่ยวหรือฮ่อมแก่ว บั้งขี้เช้า คัดเม็ง
ลักษณะพืช : ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก
พื้นที่ที่พบ : ขึ้นตามที่ชื้นแฉะไม่ขึ้นที่แห้ง ตามริมคันนา
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สามารถปลูกได้หลายภูมิภาค
วิธีการใช้ประโยชน์ : ต้ม ตำ บด
ประโยชน์ทางยา :
- แก้อักเสบ
- แก้อาการชัก
- แก้อาการประสาท
- แก้อาการปวดแสบปวดร้อน
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
- แก้โรคติดเชื้อทางผิวหนัง
- ขี้เรื้อนในสุนัข
- ใช้ห้ามเลือด
- แผลในกระเพาะอาหาร
- รักษาตับ
- รักษาผมร่วง
- รักษาอาการปากและเหงือกเป็นแผล
- ยาอายุวัฒนะ
- หยุดผมร่วง
การรักษา : สามารถใช้รักษาได้ทั้งมนุษย์และสัตว์
ข้อเสียหรือผลกระทบข้างเคียง : ไม่สามรถนำมาทานดิบได้ เบื่อเมา เวียนหัว
เรื่องราวของกะเม็ง ยาดีของหมอพื้นบ้าน
ความที่เป็นลูกชาวนาจึงรู้จักกะเม็งตั้งแต่เด็ก ๆ มันชอบขึ้นตามริมคันนา แต่น่าเสียดายว่าชาวนา จังหวัดนครนายกในแถบอำเภอเมืองไม่มีใครรู้จักชื่อของกะเม็ง รู้แต่ว่ามันเป็นยาเพราะเขาเคยเห็นหมอยาสมัยก่อนเก็บไปใช้ แต่เมื่อได้ไปถามหมอยาคุณตาส่วน สีมะพริก ท่านเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ฮ่อมเกี่ยว” เพี้ยนเป็น ฮ่อมแก่วอยู่บ้างนั้น ใช้เข้ายาอยู่หลายตำรับ เรียกว่าเป็นสมุนไพรยอดฮิตตัวหนึ่งทีเดียว เรื่องน่าสนใจก็คือ หมอยาตระกูลไทย-ลาว ทั้งหมอยาล้านนา หมอยาอีสาน หมอยาไทยใหญ่ หมอยาไทยเลย หมอยาไทยพวน ต่างเรียกกะเม็งว่า “ฮ่อมเกี่ยว” เหมือนกันทั้งนั้น
กะเม็ง ยาแก้เกี่ยวกับ อาการทางประสาท อาการชัก และไข้
หมอยาอีสาน หมอยาไทยใหญ่ หมอยาล้านนา มักจะเรียกกะเม็งว่า “ฮ่อมเกี่ยว” ใช้รักษาอาการ “เกี่ยว” อาการเกี่ยวนั้นน่าจะเป็นอาการทางประสาท เป็นลมวิงเวียน ชักเกร็งมือเกร็งและเกี่ยวกัน ซึ่งอาการเช่นนี้คล้ายๆ กับโรค Hyperventilation ในแผนปัจจุบัน วิธีใช้นั้นจะใช้ฮ่อมเกี่ยวเป็นตัวหลัก ตำคั้นน้ำผสมกับสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมตัวอื่น ๆ เช่น ขิง ว่านเปราะหอม เป็นต้น แล้วใช้น้ำคั้นที่ได้ให้ผู้ป่วยจิบ และใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำคั้นสมุนไพรเหล่านั้นเช็ดหน้า และคลุมหัวผู้ป่วยไว้การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ของกะเม็งพบว่ามีฤทธิ์คลายเครียดช่วยทำให้นอนหลับ โดยกะเม็งไปมีฤทธิ์เพิ่มระดับ Melatonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาตอนกลางคืนซึ่งสารนี้จะช่วยปรับสภาพร่างกายให้เหมาะแก่การนอนหลับ
กะเม็ง หมอยารักษาตับ
กะเม็ง เป็นสมุนไพรที่มีการกล่าวขวัญถึงในหมู่หมอยาสมัยก่อนทั้ง ไทย จีน พม่า อินเดีย โดยใช้ เป็นยารักษาตับหมอยาไทยมักจะบอกว่ากะเม็งรักษาอาการดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง เคยมีหมอพม่าและหมออินเดียมาดูงานที่โรงพยาบาลต่างพูดตรงกันว่า กะเม็งเป็นสมุนไพรที่บ้านเขาใช้รักษาตับ มีทั้งใช้กะเม็งเดี่ยว ๆ หรือบางครั้งก็ใช้เป็นตำรับร่วมกับต้นลูกใต้ใบ ผักหวานบ้าน มะขามป้อม เป็นต้น สอดคล้องกับการคันคว้าทางเอกสาร พบว่าหมอยาพื้นบ้านในประเทศต่าง ๆ ก็มีการใช้กะเม็งรักษาโรคตับเช่นกันนอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์จากทางบ้านคือ ใช้ต้นกะเม็งสดๆ 3-4 ต้น ล้างให้สะอาดนำไปต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที่ แล้วดื่มน้ำโดยผสมน้ำตาลทรายลงไปผสมพอมีรสหวาน ดื่มกินไม่เกิน 2 วันช่วยแก้อักเสบ บวมซ้ำ
(พระจีรพันธ์ ธัมมกาโมวัดพบพระใต้ จังหวัดตาก) ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากถึงผล ของกะเม็งต่อตับ คือกะเม็งสามารถป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษรวมทั้งจากแอลกอฮอล์ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส แถมยังช่วยในการพื้นตัวของตับที่ถูกทำลายได้อีกด้วย
กะเม็ง ยาอายุวัฒนะ
กะเม็งยังเข้ายาอายุวัฒนะหลายตำรับ มีทั้งใช้เดี่ยว ๆ และใช้เข้ายาตำรับร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยทำเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอน เป็นยาชงกินแทนน้ำชาทุกวันก็ได้ และมีตำรับที่ใช้การตำคั้นกะเม็งผสมน้ำผึ้งกินทุกวันเดือนดับก็มีจากการศึกษาสมัยใหม่พบว่ากะเม็งมีฤทธิ์เพิ่ม T-lymphocyte และมีการศึกษาตำรับยาจีนชนิดหนึ่งเรียกว่า AFE ซึ่งมีกะเม็งเป็นส่วนประกอบพบว่าสูตรยาดังกล่าวสามารถเพิ่มระดับ lymphocyte และ IgG ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันนอกจากนี้กะเม็งยังทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเม็ดเลือดแดงแข็งแรงขึ้น ซึ่งยืนยันการใช้เป็นยาอายุวัฒนะของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี และอาจมีประโยชน์ต่อการใช้เป็นยาเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้แล้วยังพบว่ากะเม็งลดการกดภูมิคุ้มกันซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ในการรักษาความเป็นปกติของร่างกายขณะที่ได้รับเคมีบำบัดนอกจากเป็นยาอายุวัฒนะแล้วหมอยาพื้นบ้านยังบอกว่ากะเม็งเหมาะที่จะทำเป็นชาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยนำต้นกะเม็งตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปคั่วให้พอหอม ชงน้ำร้อนดื่มเป็นน้ำชารับประทาน ดียิ่งนัก
กะเม็ง หมอยารักษาแผล โรคเชื้อทางผิวหนัง
หมอยาทุกภาคต่างรู้ดีว่ากะเม็งเป็นสมุนไพรทำแผล ช่วยห้ามเลือดและป้องกันการติดเชื้อ มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ว่าสมัยสงครามเวียดนาม กะเม็งเป็นยาคู่สนามรบมีการนำมาใช้ทั้งสดและแห้งเพื่อห้ามเลือด นอกจากนำมาใช้รักษาแผลให้คนแล้ว กะเม็งยังเป็นยารักษาแผลในสุนัขตัวโปรดได้ด้วยกะเม็งยังใช้ตำพอกแก้อักเสบเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อยใช้ต้มอมบ้วนป่ารักษาอาการปากและเหงือกเป็นแผล แก้ปวดฟันหรือจะใช้ต้นสดผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผงทาที่เหงือกแก้ปวดฟันก็ได้ และกะเม็งยังใช้รักษาอาการปากเบื่อยปากเจ็บเนื่องจากเชื้อราในเด็ก โดยใช้น้ำคั้นจากใบ 2 หยดผสมน้ำผึ้ง 8 หยด ทาบ่อย ๆ
กะเม็งยังสามารถรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อาการฟกช้ำ อาการแพ้ได้อย่างดี โดยบดตำเอามาพอกที่ บาดแผลลดอาการอักเสบ ปวดแสบปวดร้อน อาการอักเสบจะดีขึ้น ให้พอกไปเรื่อย ๆ และคอยเปลี่ยนยาบ่อย ๆกะเม็งยังช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า ชาวนาสมัยก่อนจะนำใบกะเม็งขยี้ทาเท้าทิ้งไว้ให้แห้งก่อนลงนา การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่ากะเม็งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อทั้งราและแบคทีเรียและเป็นสมุนไพรที่ขึ้นได้ดีในหนน้ำ เป็นเรื่องน่าแปลกเพราะดูเหมือนว่า ธรรมชาติจะได้ประทานสมุนไพรชนิดนี้มาให้กับขาวนใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าในหน้าลงได้พอดิบพอดี
กะเม็ง สมุนไพรของผม
กะเม็งเป็นยาบำรุงผมมานานนับพันบี สาวอินเดียเชื่อว่าน้ำมันกะเม็งที่ได้จากการคั้นน้ำกะเม็งเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวจะช่วยบำรุงผมรักษาอาการผมร่วง แก้อาการหัวล้านทั้งชายและหญิง ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม
มีตำรับยาของคุณพ่อซึ่งใช้กะเม็งเคี่ยวกับน้ำมันทาผม เพื่อช่วยรักษาอาการผมหงอกก่อนวัย เช่นเดียวกับทางอินเดีย ซึ่งมีรายงานการศึกษาพบว่าการทำตำรับยาที่มีกะเม็งเป็นส่วนผสมช่วยรักษาอาการผมหงอกได้
ตัวอย่างตำรับยา
ตำรับยารักษาอาการหน้าซีดเพลีย (ตำรับคุณพานี นิ่มนุ่ม และของหมอยาไทยใหญ่) ใช้น้ำคั้นกะเม็งผสมน้ำผึ้งกิน
ตำรับยาอายุวัฒนะ ใช้กะเม็งทั้ง 5 ประมาณ กำมือของเจ้าของคั้นเอาเฉพาะน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบาง ผสมกับน้ำร้อนประมาณครึ่งแก้ว ผสมกับน้ำผึ้งแก้ว ใน 3 ส่วน ของน้ำร้อน ใช้น้ำยารับประทานแก้กระษัยขับปัสสาวะ เป็นยาอายุวัฒนะ ดื่มทุกวันเดือนดับ
ตำรับยาแก้ตับอักเสบ (ตำรับคุณสมพงษ์ ยอดปรางค์ จังหวัดนครราชสีมา)ใช้กะเม็งสด 1 กำมือผสมกับน้ำ 1 ขัน ต้ม แล้วดื่มแทนน้ำไปเรื่อย ๆ จะช่วยรักษาตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบ บี
ตำรับยาป้องกันผมหงอกก่อนวัย (ตำรับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม)
ส่วนประกอบ ต้นกะเม็ง ว่านเปราะหอมว่านสาวหลง น้ำมันมะพร้าว พาราฟิน วาสลีน หัวน้ำหอมกลิ่นที่ชอบ
วิธีทำ หั่นซอยต้นกะเม็งเหมือนซอยต้นหอมใส่ลงกระทะ เติมน้ำพอท่วมตั้งไฟปานกลางเคี่ยวจนน้ำเหลือน้อย เอากากออก ส่วนว่านต่าง ๆ นั้นหั่นบาง ๆ ทอดในน้ำมันมะพร้าวจนเหลืองเกรียมเอากากออก นำน้ำกะเม็งผสมใส่ในน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวต่อไป ไล่น้ำออกจนหมด (น้ำมันไม่กระเด็น)ใส่วาสลีน พาราฟิน เคี่ยวไฟอ่อนๆ พอละลายหมด ทดลองตักหยุดลงในน้ำ ถ้าแข็งตัวดี ยกลงใส่หัวน้ำหอม คนให้เข้ากันแล้วปิดฝารอให้อุ่นตักหยอดใส่กระปุกแต่ถ้าเหลวเกินไปทยอยใส่พาราฟินทดลองตักหยุดอีกครั้งจนแข็งตัว
ข้อมูลอ้างอิง สุภาภรณ์ ปิติพร. (2556). เรื่องราวของกะเม็งยาดีของหมอพื้นบ้าน กะเม็งยาแก้เกี่ยวกับ อาการทางประสาทอาการชักและไข้ กะเม็งหมอยารักษาตับ กะเม็งยาอายุวัฒนะ กะเม็งหมอยารักษาแผลโรคเชื้อทางผิวหนัง กะเม็ง สมุนไพรของผม ตัวอย่างตำรับยา. ใน สุภาภรณ์ ปิติพร (บ.ก.), บันทึกของแผ่นดิน ๑ หญ้ายาสมุนไพรใกล้ตัว. (พิมพ์ครั้งที่ 5). (น. 12-17 ). กรุงเทพฯ: ปรมัตถ์การพิมพ์.
คุณวัชรี ชัยชมภู